วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Walking Tour : ทอดน่อง..ท่อง"ราชดำเนิน"(1)

    การเดินทางเพียงลำพังอาจจะดูโดดเดียว แต่รับรองว่าจะไม่เหงา ถ้ามีเพื่อนดีๆ สักเล่ม “Walking Tour : ทอดน่องท่องประวัติศาสตร์”        
      เพื่อนเล่มนี้ จะคอยบอกเล่าเรื่องราวระหว่างทางจาก “ราชดำเนิน”สู่ “ราษฎรเดินนำ” เขาจะคอยกระซิบบอกร่องรอยอดีตของถนนเส้นนี้ ทำให้เข้าใจ "ราชดำเนิน" มากกว่าที่ตาเห็น ^^


  


       เพื่อนเล่มนี้ จะเริ่มเดินตั้งแต่หมุดเริ่มต้นประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินนอก เข้าสู่ถนนราชดำเนินกลาง แล้วเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์!!
     แต่ฉันขอดำเนินสะดวกดีกว่า(ฮา) เพราะล่องเรือมาจากคลองแสนแสบมาถึงคลองมหานาค เลยเริ่มต้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศไปสิ้นสุดที่หมุดประชาธิปไตย




       




















    บ่ายแก่ๆของเดือนมิถุนายน 2554 ฉันขึ้นรถลงเรือมาถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ข้ามคลองบางลำพู สะพานแห่งนี้


   






         เพื่อนกระซิบบอกว่า “นี่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อของ”ราชดำเนินนอก”กับ”ราชดำเนินกลาง” เวลาม็อบเคลื่อนขบวนจะถูกบีบตัวช่วงสะพานนี้ จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการตั้งแนวลวดหนาม เพื่อสกัดกั้นการชุมนุมครั้งสำคัญๆที่ผ่านมา”


        อ๋อมิน่า…จุดยุทธศาสตร์แห่งนี้ จึงถูกทลายกลายเป็นเวทียุทธศาสตร์ของนักเคลื่อนไหว(เสื้อแดง)ไปซะแล้ว (ฮา)


          เป้าหมายต่อไป “พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัว” สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งเดิมเป็นร้านตัดสูทที่ทันสมัยที่สุดในยุค รัชกาลที่6 พอเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็กลายมาเป็นกรมโยธาธิการ ก่อนจะกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน




   เดินยาวๆ ลมเย็นๆ ดอกมะขามร่วงเกลื่อนกราวอยู่บนพื้นคอนกรีต ใต้ร่มเงาร่มรื่น ก็เลยเถิดมาถึง “เวทีมวยราชดำเนิน” ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.




            เรื่อยเปื่อยมาถึงแยก จปร.  เจอกองบัญชาการกองทัพบก เดิมเป็นเรือนนอนของนักเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อเช้าตรู่ของวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง นักเรียนบางส่วนถูกลวงไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า


     
       มาเรื่อยๆ ก็เจอคลองผดุงกรุงเกษม พบสะพานข้ามคลองที่สวยเลิศเหมือนดังอยู่เวนิส(อิอิ) “สะพานมัฆวานรังสรรค์” สถานที่แห่งนี้ ทำให้ “ร้อยเอกอาทิตย์ กำลังเอก” กลายเป็น “วีรบุรูษสะพานมัฆวาน” หลังจากห้ามทัพขบวนนักศึกษาที่ประท้วงการเลือกตั้งสกปรกในยุคจอมพล ป.ไม่ให้เกิดการปะทะและนองเลือด














        






        เอาละซี..ยุคนี้ สะพานมัฆวานถูกยึดเป็นยุทธศาตร์เคลื่อนไหวของคนเสื้อเหลือง วันนี้พวกเขาก็ยังอยู่ มาชักชวนให้ “โหวตN0”




           “ทำเนียบรัฐบาล” เห็นเพียงเงาๆ เพราะล้อมกรอบไปด้วยรั้วลวดหนาม ถูกกั้นไม่ใช้เข้าใกล้รัศมีอยู่หลายเมตร เพราะถูกล้อมด้วยมวลชนคนเสื้อเหลือง



          ถัดมา "กระทรวงศึกษา" เดิมเป็น "วังจันทร์เกษม" รัชกาลที่ 5 สร้างให้รัชกาลที่ 6 แต่มิทรงได้ประทับเพราะขึ้นครองราชย์เสียก่อน พอเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ถูกเวรคืน กลายเป็นกระทรวงศึกษาธิการ

      
   เริ่มจะค่ำแล้ว..รีบย่ำเท้าผ่าน "วังปารุสสวัน"  ข้ามไปบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ต้นถนน "ราชดำเนินกลาง" เดิมคือพระราชวังดุสิต ลานแห่งนี้ เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน  2475 ก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยืนอ่าน "ประกาศคณะราษฎร์ ฉบับที่ 1"
   “..ด้วยบัดนี้ คณราษฎร ได้จับพระบรมวงษานุวงษ์ ไว้เปนประกันแล้ว ถ้าผู้ใดขัดขวางคณราษฎร ผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษ และพระบรมวงษานุวงษ์จะต้องถูกทำร้าย..”




     แล้วเวลาต่อมา ได้มีการฝังหมุดทองเหลืองไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความสำเร็จในการดำเนินงานและเพื่อเป็นการยืนยันให้เห็นถึงเจตนารมย์ของคณะราษฎร์ที่นำระบอบประชาธิปไตยมามอบให้แก่ประชาชนเพื่อความเจริญของประเทศชาติสืบไป
         วันก่อน 24 มิถุนายน 2555 ก็เห็น "คณะราษฎรเก๊" มาอ่าน “ประกาศคณะราษฎร์ที่ 2” ก็ฮาเฮกันไป




      เหม่อมองไปเบื้องหน้า..เห็นพระที่นั่งอนันตสมาคมสวยงามสง่าแม้ความมืดเริ่มคลี่ปกคลุมภาพอดีตอันรุ่งโจนน์แห่งสมบูรณาญาสิทธิราช “เพื่อน”กระซิบปลุกจากภวังค์ว่า
     "ช่วงเย็นวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีการอัญเชิญธงมหาราช ซึ่งเป็นธงประจำพระองค์ของมหากษัตริย์ที่ประดับอยู่บนยอดโดมลง และชักธงไตรรงค์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติขึ้นสู่ยอดโดม ซึ่งได้โบกสะพัดต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้" 
     “ราชดำเนินนอก” ระยะทางเพียงสั้นๆ..แต่การเดินย่ำไปพร้อมกับการรำลึกอดีต..กลับกลายเป็นการเดินทางที่ยาวนานไม่หยอกเลยแฮะ!!


        


      แล้วฉันจะกลับมาย่ำ "ราชดำเนิน”เส้นทางที่เหลือ.. แต่ไม่คิดว่ามันจะยาวนานจนข้ามปี!! …

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น